วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.

        การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้ ก็คงจะเหมือนกับครั้งก่อนๆ รัฐมีรัฐธรรมนูญ-กฎหมาย-กฎเกณฑ์ กติกา ในการเลือกตั้งค่อนข้างดี แต่กลไกในการบังคับใช้กฎหมายไม่เคยมีประสิทธิภาพ นักการเมืองตัวโกงยังคงกำเริบเสิบสานมากขึ้นเรื่อยๆ ฤดูการเลือกตั้งเริ่มมาได้ไม่เกินสองสัปดาห์ เราได้เห็นนักการเมือง-พรรคการเมืองตัวโกงละเมิดกฎหมายกันแล้วอย่างแพร่หลายที่สำคัญคือ
        1. มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันแล้วอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด พรรคใหญ่ซื้อหัวคะแนนเสียงไว้ก่อนแล้วเป็นระยะยาว พวกเขามีเล่ห์เหลี่ยมในการทำผิดกฎหมาย โดยไม่ทิ้งหลักฐานให้ถูกจับได้
        2. นักการเมืองใช้สื่อมวลชนสร้างกระแส-บิดเบือนข่าวอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยตรวจสอบได้ยาก ก.ก.ต.มองไม่เห็นหรอกว่าคนของพรรคการเมืองใดเป็นเจ้าของ-ผู้ถือหุ้น-ผู้ให้ทุน (ผ่านญาติมิตรข้าทาสบริวาร) ก่อตั้ง-ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ Asia Update, เคเบิลทีวี, วิทยุชุมชน, เผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ การให้โอกาสเท่าเทียมกันในการหาเสียงของผู้สมัคร/พรรคการเมือง เป็นประเด็นสำคัญที่จะตัดสินว่าการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
       3. เราถูกบังคับโดยกฎหมายให้ไปทำหน้าที่เลือกตั้ง ส.ส. ให้เลือกผู้สมัคร/พรรคที่ดีที่สุด หรือคน/พรรคที่เลวน้อยที่สุด แต่ความจริงได้ปรากฏให้ประจักษ์แล้วว่าการเมืองไทยมีอาการวิปริตถึงขั้นวิกฤต ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่าครึ่งหนึ่งจะไปใช้สิทธิเลือกรัฐบาล (ไม่ใช่เลือก ส.ส.) จำนวนมากในจำนวนนี้จะไปเลือกคน/พรรคเพื่อไทยเพราะไม่ชอบคนพรรคประชาธิปัตย์   ในทางตรงกันข้ามไปเลือกคน/พรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่ชอบคน/พรรคเพื่อไทย เพราะไม่อยากเห็นพรรคที่ตนเกลียดได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะกล้าพูดได้เต็มปากว่านี่เป็นการเลือกตั้งส.ส.ในระบอบประชาธิปไตย
       4. ทางเลือกของเราคือ (1) ประท้วงโดยการไม่ไปลงคะแนนซึ่งจะต้องเสียสิทธิบางประการ  (2) ประท้วงโดยไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้ง แต่กาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือ (3) ยอมร่วมมหกรรมการโกงครั้งนี้ด้วยโดยการกาให้พรรคการเมืองและผู้สมัครอย่างละหนึ่งเสียง เป็นการช่วยกันออกประกาศนียบัตรรับรองความชอบธรรมให้แก่ ส.ส. และรัฐบาลที่เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น